รายการบล็อก

วันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2560

นกฮูก


นกฮูก


นกฮูก เป็นนกที่ออกหากินในเวลากลางคืน และเป็นสัตว์ปีกในตระกูล Tytonidae กับ Strigidae เราสามารถพบเห็นมันในทุกภูมิภาคของโลก มันมีจงอยปากและกรงเล็บที่แหลมคมคล้ายเหยี่ยว ตามตัวมีขนปกคลุม เต็มและมีใบหน้ากลม หูและตาของนกฮูกแหลมคมมาก มันมีสไตล์การบิน ที่เงียบเชียบจนแทบปราศจากเสียง ตัวของมันมีขนาดต่างๆ กันตั้งแต่ 10 เซนติเมตร จนกระทั่งถึง 60 เซนติเมตร ขนของมันมีทั้งสีดำ ขาวน้ำตาล เทาและเหลืองอ่อนปะปนกัน มันชอบกินสัตว์เป็นๆ เช่น นกที่มีขนาดเล็ก กว่าหนู กบ แมลงหรือสัตว์เลื้อยคลานเช่น กิ้งก่า เป็นต้น เสียงร้องของมัน ทุ้มต่ำเหมือนเสียงคราง
นกฮูกที่เรารู้จักมีหลายพันธุ์เช่น ฮูกยุ้ง (barn owl) และฮูกจิ๋ว (little owl) ซึ่งสูงประมาณ 16 เซนติเมตร และมีหางสั้น ปีกของนกฮูกนี้แผ่กว้าง นุ่ม และปลายมน ขนที่นุ่มนี้เองที่ทำให้การบินของมันปราศจากเสียง โดยมัน จะพุ่งตัวจากยอดไม้ด้วยความเร็วสูง การใช้สายตาที่แหลมคม และหูที่ไว ต่อเสียง ประกอบกับกรงเล็บที่แหลมและจงอยปากที่คม ช่วยให้มันจับเหยื่อ และแทะเนื้อเหยื่อได้อย่างสะดวกสบาย มันวางไข่ครั้งละ 4-5 ฟอง และเวลาตัวเมียฟักไข่ ตัวผู้จะออกหาอาหาร นกฮูกเหยี่ยว (eagle owl) เป็นนกฮูกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มันมีกระบังขนชี้ขึ้นคล้ายหู มีจงอยปาก ที่แข็งแรงและชอบกินหนูตัวโตๆ
นักชีววิทยาได้พบว่า ตาของนกฮูกสามารถมองเห็นวัตถุในที่มืดได้ดีกว่าตาของมนุษย์ราว 100 เท่า ตาสองตาของมันทำงาน ประสานกัน ทำให้สามารถมองเห็นเป็นมุมกว้างรวมกัน 100๐ และมุมมองของตาทั้งสองนั้นเหลื่อมซ้อนกันถึง 70๐การที่มุมของ ทัศนวิสัยซ้อน กันเช่นนี้ทำให้มันเห็นวัตถุ 3 มิติเช่นเดียวกับตาคน พรสวรรค์เช่นนี้ช่วยให้มันกะระยะทางของเหยื่อได้ดีกว่านก ทุกชนิดในโลก นอกจากนี้ นักชีววิทยายังได้สังเกตเห็นอีกว่า นกฮูกบางชนิดมีใบหูและรูหูที่ระดับต่างกัน ดังนั้น เวลาหนูหรือนกเล็กๆ เคลื่อนไหว เสียงจากเหยื่อ เหล่านี้จะใช้เวลาในการเดินทางถึงรูหูทั้งสองต่างกัน ซึ่งมีผลทำให้สมองของมันสามารถคำนวณตำแหน่งของ เจ้าของเสียงนั้นๆ ได้
ในวารสาร Conservation Biology เมื่อ 3 ปีก่อนนี้ S.Wassar แห่งมหาวิทยาลัย Washington ในสหรัฐอเมริกา ได้รายงานวิธีวัดความเครียดของนกฮูกว่าตามปกตินกฮูกก็เช่นเดียวกับคน คือเวลาเห็นศัตรูหรือเวลาถูกรบกวนด้วยเสียงดัง ร่างกายมัน จะหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมา ซึ่งมีผลทำให้ชีพจรของมันเต้นแรง และถ้าเป็นสัตว์ตัวเมีย ฮอร์โมน corticosterone นี้ จะทำให้สัตว์ ตกลูกยาก และมีภูมิต้านทานโรคน้อย ซึ่งอาการเหล่านี้มีส่วนทำให้สัตว์สูญพันธุ์
ดังนั้นการรู้วิธีวัดความเครียดในสัตว์ จึงสามารถใช้เป็นดัชนีช่วยในการป้องกันไม่ให้สัตว์สูญพันธุ์ได้ และเท่าที่ผ่านมาในอดีต นักชีววิทยามักใช้วิธีจับสัตว์มาวัดปริมาณ corticosterone ที่มีในตัวของมัน แต่วิธีนี้ไม่ดี เพราะเพียงแต่ไล่จับมัน มันก็เครียด เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ปริมาณฮอร์โมนเครียดที่วัดได้ จึงไม่ใช่ความเครียดที่เกิดตามธรรมชาติ แต่เป็นความเครียดที่เกิดจากคน
ด้วยเหตุที่ S.Wassar จึงได้เสนอให้นักชีววิทยาใช้เทคนิคการวัดความเครียดในสัตว์ใหม่ โดยเขาได้พบว่า ในมูลที่นกฮูกลายจุด ถ่ายมีฮอร์โมน corticosterone ปนออกมาด้วย ดังนั้น ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ปริมาณฮอร์โมนชนิดนี้ในมูลของนกฮูกสามารถ ใช้เป็นดัชนีบอกความเครียดของนกฮูกได้ และเขาก็ได้พบว่า นกฮูกที่มีรังอยู่ในป่าที่มีการตัดไม้ทำลายป่ามาก จะเครียดมากกว่านกฮูก ที่อาศัยอยู่ในป่าที่มีต้นไม้มากและการตัดไม้ทำลายป่าน้อย ส่วนนกฮูกตัวเมียนั้นจะเครียดจัดเวลาลูกนกฮูกใกล้จะบินจากรัง ซึ่งผลจาก การวิจัยของ Wassar นี้ ได้ชี้นำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ออกกฎหมายคุ้มครองป่าที่นกฮูกต่างๆ อาศัยอยู่ และห้ามการตัดไม้ทำลายป่า เมื่อถึงฤดูนกสืบพันธุ์ เพราะเสียงการตัดต้นไม้ในป่าจะรบกวนจิตใจของนกฮูกนั่นเอง
ในวารสาร Journal of Avian Biology ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ.2544 S.Redpath แห่ง Centre for Ecology and Hydrology ในประเทศอังกฤษ ได้รายงานการศึกษานกฮูกสีเหลืองน้ำตาล (tawny owl) ในป่า Kielder ว่า เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ นกต่างๆ จะส่งเสียงร้องเซ็งแซ่ นกฮูกก็เช่นกัน แต่เสียงร้องของนกฮูกมิใช่เป็นเพียงเครื่องหมายแสดงความเบิกบานของจิตใจเท่านั้น มันยังเป็นสัญญาณบอกนกฮูกเพศตรงกันข้ามว่าเจ้าของเสียงร้องนั้น มีร่างกายที่สมบูรณ์ และเหมาะแก่การสืบพันธุ์เช่นไรอีกด้วย เพราะหูของนกฮูกสามารถจำแนกคุณลักษณะประเด็นนี้ได้ เช่นว่า นกที่มีสุขภาพดีกับนกที่ป่วย จะมีสุ้มเสียงแตกต่างกันอย่างไร และ Redpath ก็ได้พบว่า เวลาเธอเปิดเทปบันทึกเสียงของนกฮูก นกฮูกที่มีพยาธิในตัวจะใช้เวลานานเกือบ 15 นาที จึงส่งเสียงตอบ แต่นกฮูกที่สมบูรณ์ไร้พยาธิใดๆ จะใช้เวลาเพียง 6 นาที 30 วินาทีเท่านั้นเอง ก็ส่งเสียงร้องตอบแล้ว
นอกจากนี้ เธอก็ยังพบอีกว่าความถี่ของเสียงที่นกที่มีพยาธิในตัวเปล่งออกมานั้น จะแตกต่างจากเสียงของนกที่ไม่มีพยาธิ ซึ่งแม้แต่ หูคนก็สามารถจำแนกได้ เพราะความถี่สูงสุดของเสียงที่นกที่มีพยาธิเปล่งออกมาเป็นเพียง 0.82 กิโลเฮิรตซ์ ในขณะที่ความถี่สูงสุด ของเสียงที่นกที่สมบูรณ์เปล่งออกมาจะสูงถึง 0.98 กิโลเฮิรตซ์
และในวารสาร Science ฉบับที่ 292 ประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2544 Jose Luis Pena แห่ง California Institute of Technology ในสหรัฐอเมริกาก็ได้รายงานเกี่ยวกับธรรมชาติการทำงานของสมองนกฮูกว่า
ถึงแม้จะเป็นคืนที่มืดสนิทและเงียบสงัด แต่ถ้ามีหนูเคลื่อนไหวอยู่ในบริเวณที่หูนกฮูกสามารถได้ยินได้ ชีวิตของหนูตัวนั้นก็จะจบสิ้น ในอีกไม่กี่นาที เพราะนกฮูกจะรู้ทันทีว่า มันจะต้องบินไปสู่ที่ใด ทั้งนี้ เพราะสมองส่วนที่เรียกว่า interior colliculus ของมันสามารถ บอกระยะทางที่เหยื่ออยู่ไกลจากตัวมันได้ เช่น ถ้าหนูอยู่ทางขวาของมัน หูขวาของนกฮูกก็จะได้ยินเสียงที่ดังกว่าหูข้างซ้ายของมันเล็กน้อย และเมื่อสัญญาณเสียงจากหนูเดินทางถึงหูขวาก่อนหูซ้ายเล็กน้อย ความแตกต่างนี้จะทำให้เซลล์ประสาทในหูของนกฮูกคำนวณตำแหน่ง ของเจ้าของเสียงได้อย่างถูกต้อง
อนึ่ง ในการทดลองนี้ เขาได้ใช้นกฮูกยุ้ง 14 ตัว และใช้หูฟังติดที่หูของนกฮูกกลุ่มนี้เพื่อตรวจวัดปฏิกิริยาตอบสนองของนกฮูกเวลา ได้ยินเสียงและเขาก็ได้พบว่า เซลล์ประสาทในหูนกฮูกเวลาได้รับสัญญาณแทนที่จะทำงานโดยการรวบรวม (บอก) สัญญาณ มันจะทำงานในลักษณะคูณสัญญาณกัน ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่ processor ในเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ "มันจึงหาตำแหน่งเจ้าของเสียง ได้เร็วและถูก"


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น